พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ


             พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาล้าน ห่างจากที่ตั้งวัดประมาณ 1.4 กิโลเมตร เขาล้านเป็นดินดานสูงจากพื้นราบประมาณ 150 เมตร พื้นที่รอบๆ ตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้านสลับกับป่าไม้ธรรมชาตินานาพันธุ์ ระยะทางจากเชิงเขาขึ้นไปถึงยอดเขาประมาณ 1.3 กิโลเมตร ปัจจุบันการคมนาคม

              ก่อนถึงยอดเขาประมาณ 300 เมตร ทางด้านซ้ายมือประดิษฐานพระร่วง 3 พี่น้อง เป็นพระพุทธรูปประทับยืน เพื่อให้เป็นเทพผู้เปิดโลก นำมวลมนุษย์และสัตว์ในสากลโลกที่ตกอยู่ในกิเลสทั้งสิ้นเข้าสู่โลกใหม่ 


               บนยอดเขาปรับระดับดินเป็นลานกว้างสำหรับเป็นที่จอดรถยนต์ รอบลานกว้างทำเป็นม้านั่งคอนกรีตเสริมเหล็กปูทรายล้างสำหรับนั่งพักผ่อน ด้านขวาของลานจอดรถสร้างเป็นศาลาการเปรียญหลังคาทรงไทยติดกันเป็นกุฏิเจ้าอาวาส หน้าศาลาการเปรียญเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลางสระ ปัจจุบันไม่มีพระแม่ธรณีอยู่แล้ว


              ต่อจากลานจอดรถทำเป็นทางคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 5 เมตร ทอดขึ้นไปสู่พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ สองข้างทางประดับด้วยรูปปูนปั้นพญานาค 5 เศียร อยู่ในท่าเลื้อยลงมาจากพระมหาธาตุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นาคสะดุ้ง 


             ส่วนบนสุดของทางขึ้น 2 ข้าง เป็นรูปปั้นสิงห์ 4 ตัวยืนหันหลังชนกัน หันหน้าออกสู่ทิศสี่ทิศ โดยยืนบนฐานปูนปั้นสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ด้วยว่าสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ แข็งแกร่ง จึงสร้างไว้เพื่อพิทักษ์รักษาองค์พระมหาธาตุเจดีย์



            บริเวณโดยรอบขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ทางทิศเหนือมีพลับพลาหลังคาทรงไทย ทางด้านทิศใต้มีเรือนรับรองชั้นเดียวทรงแปดเหลี่ยม หลังคาทรงปิรามิด ถัดลงไปตามไหล่เขาสร้างที่พักสำหรับภิกษุหรือญาติโยมที่ขึ้นไปปฏิบัติธรรม และสร้างถ้ำจำลองไว้สำหรับเจ้าอาวาสเข้าไปปฏิบัติธรรมในช่วงเข้า
พรรษา

            พระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือมีลักษณะผสมระหว่างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กับพระบรมธาตุทางภาคเหนือ ด้วยเหตุที่ว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้มาจากอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ส่วนพระครูปลัดพิศาล ปุรินฺทโก เป็นคนใต้และเคารพในพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด และพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชยังเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางภาคใต้ นอกจากนี้แล้ว พุทธศาสนายังถือกำเนิดในประเทศอินเดีย ดังนั้นพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือจึงมีลักษณะของศิลปะแบบอินเดียมาผสมด้วย ลักษณะพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมเท่ากันทุกด้าน อันมีความหมายถึงมรรคมีองค์ 8 สร้างเป็น 3 ชั้น จากฐานชั้นล่างถึงยอดสูง 109 เมตร ทุกชั้นมีฐานเป็นลักษณะแปดเหลี่ยมเท่ากันทุกด้าน










ผู้ดูแลทั่วไปพระมหาธาตุเจดีย์พุทธธรรมบันลือ (พ่อดิฉันเอง)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น